มท.ออกระเบียบใหม่ หลักเกณฑ์-วิธีจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยประกาศ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 ฉบับใหม่ ที่ปรับปรุงว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ  ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 

     "เบี้ยผู้สูงอายุ" หรือ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทางภาครัฐจัดสรรให้แก่ "ผู้สูงอายุ" ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน เนื่องจากรายได้จากอาชีพผู้สูงอายุที่ทำอยู่ในแต่ละเดือนอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ หมายความว่า การรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ จากภาครัฐ จะต้องลงทะเบียนก่อน

 ที่มาในการแก้ไขเกณฑ์การจ่ายเงิน (ปัญหาการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ)

      เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ได้เกิดกรณีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุนับหมื่นราย หลังจากกระทรวงการคลังพบว่า มีผู้สูงอายุจำนวนมากรับบำนาญพิเศษ ซ้ำซ้อนกับการรับเบี้ยผู้สูงอายุ เช่น ทหาร ตำรวจ เป็นเหตุให้กรมบัญชีกลางทยอยเรียกเงินคืนย้อนหลัง โดยได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นจำนวนเงิน 245.24 ล้านบาท และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง 

      กระทั่งกรมบัญชีกลางมีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะต้องเรียกเงินคืนหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าไม่ต้องคืนเงิน ส่วนกรณี อบต.เรียกคืนมาแล้ว ให้คืนเงินจำนวนนั้นกลับไปให้ผู้สูงอายุ และในย่อหน้าสุดท้ายของความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเด็นที่กรมบัญชีกลางสอบถามไปว่า ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ "รีบ" แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ

       การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เกี่ยวพันกับหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีหน่วยงานหลักคือ กรมกิจการผู้สูงอายุและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ  2.  กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้จ่ายเบี้ยยังชีพ และ 3. กระทรวงการคลัง

การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ

ภาครัฐจะโอนเงินให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน หากเดือนใดวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการจะจ่ายให้ในวันทำการก่อนวันหยุด และเป็นการจ่ายรายเดือนแบบขั้นบันได ดังนี้

1. ผู้สูงอายุ อายุ 60 - 69 ปี ได้รับ 600 บาท

2. ผู้สูงอายุ อายุ 70 - 79 ปี ได้รับ 700 บาท

3. ผู้สูงอายุ อายุ 80 - 89 ปี ได้รับ 800 บาท

4. ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท

 คุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

  • มีสัญชาติไทย
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
  • หลักเกณฑ์เดิม หมวด 1 ข้อ 6(4) “ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ผู้รับเงินบำนาญเบี้ยหวัดบำนาญพิเศษหรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันแต่ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่น ตามมติ ครม.”
  • หลักเกณฑ์ฉบับใหม่ที่แก้ไขล่าสุด 2566 หมวด 1 ข้อ 6(4) "เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด" 

       บทเฉพาะกาล ข้อ 17 ระบุว่าบรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป

 ปี 2566 สังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

  • ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20%  ของประชากรทั้งหมด
  • ข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า สิ้นปี 2565 (31 ธ.ค.65) ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็น 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน ในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5.6 ล้านคน และหญิง 7.07 ล้านคน โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่ง คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี 
  • ข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง ระบุ มี.ค. 2566 

        กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว มีจำนวน 36,986 คน เป็นชาย 18,456 คน หญิง 18,530 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 เพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 คน จากจำนวน 29,935 คน เป็นชาย 14,604 คน หญิง 15,331 คน

        น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านต่อปี และในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเป็น 90,000 ล้านแล้ว


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar