ก.คลัง + ก.พาณิชย์ - ชาวไร่มันเฮ 7 พ.ค.นี้ รัฐบาล นัดถกแก้ปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำ

น้ำท่วม – ภัยแล้ง ทำผลผลิตมันสำปะหลังลด

ปี 2566 อุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีการหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของอุทกภัย และภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2566 อยู่ที่ 30.7 ล้านตัน ลดลง -9.8% เทียบกับพื้นที่เก็บเกี่ยว (Harvested Area) โดยรวมอยู่ที่ 9.4 ล้านไร่ ลดลง -5.8% ทำให้ผลผลิตต่อไร่ (Yield) ลดลงเหลือ 3,287 กิโลกรัมต่อไร่ 

(-4.3%) ซึ่งสาเหตุของผลกระทบดังกล่าว มีดังนี้

1. อุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน 2565 จากอิทธิพลของพายุโนรู ทำให้พื้นที่เพาะปลูกบางส่วนและผลผลิตที่รอการเก็บเกี่ยวในช่วงต้นปี 2566 ได้รับความเสียหาย 

2. ภาวะฝนทิ้งช่วงและฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจากการเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) ในช่วงไตรมาส 

2 ปี 2566 ทำให้มันสำปะหลังที่ปลูกในช่วงปลายปี 2565 เสียหายหรือยืนต้นตาย 

3. การแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังและแมลงศัตรูพืช 

4. การลดลงของพื้นที่เพาะปลูกจากการขาดแคลนท่อนพันธุ์ แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับแรงจูงใจจากการปรับขึ้นของราคาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 เป็นต้นมา

ครม. อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง

ก่อนหน้านี้ (พ.ย. 66) รัฐบาลได้ออกมาตรการักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของกรมการค้าภายในและ ธ.ก.ส. รวม 4 โครงการ กว่า 370 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลังโดยไม่เร่งระบายผลผลิต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และสร้างศักยภาพการแปรรูปของเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ดังนี้

1. อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของกรมการค้าภายใน จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 310,000,000 บาท ได้แก่

1) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงิน 300,000,000 บาท และมีระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลาเก็บสต็อก ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2567 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 31 ตุลาคม 2568

2) โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ)  วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,000,000 บาท สนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย เครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็ก 650 เครื่อง ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ 7 พฤศจิกายน 2566 – 30 กันยายน 2567

2. อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 60,650,000 บาท ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 

ปี 2566/67 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.85 สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 วงเงินงบประมาณ 19,250,000 บาท 

2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยตามโครงการฯ ในอัตรา MRR (ปัจจุบัน 6.975%) โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลรับภาระร้อยละ 3 และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รับภาระในอัตรา MRR – 3% วงเงินงบประมาณ 41,400,000 บาท 

7 พ.ค. คลัง - พาณิชย์ นัดถกแก้ปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำ

เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรชะลอเก็บเกี่ยวหัวมันสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้เกษตรมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ระหว่างรอการเก็บเกี่ยว รัฐบาลจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกและประเมินพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวและให้สินเชื่อแก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 50,000 บาท  อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ธ.ก.ส. ให้ใช้ในอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับโครงการของรัฐไม่เกิน 4.5% ต่อปี โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตรา 3.5% เกษตรกรสมทบในอัตรา 1% ระยะเวลา

ไม่เกิน 6 เดือน โดยมีกำหนดชำระคืนแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันกู้ คาดว่าจะใช้เงินชดเชยดอกเบี้ยวงเงิน 56,962,500.00 บาท

สำหรับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้รับสินเชื่อไร่ละไม่เกิน 2,500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน วงเงินรวมไม่เกินครัวเรือนละ 50,000 บาท (คิดเป็นเกษตรกรประมาณ 65,100 ครัวเรือน)  และในวันที่ 7 พ.ค. 67 จะมีประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ด่วน ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในปลายเดือน


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar