รัฐบาลเร่งพัฒนาคุณภาพพืชผลทางการเกษตรของไทย ย้ำยกระดับราคาสินค้าทางการเกษตร ทั้ง ข้าว มัน ยาง อ้อย ราคาดีขึ้นมาก

ดันไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก (Agriculture and Food Hub)

รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก ผ่าน 

9 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 

1. การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร 

2. การจัดทำข้อมูลเกษตรกร แปลงเกษตรกรในระบบดิจิทัล และการประกันภัยพืชผล 

3. การส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน 

4. การบริหารจัดการน้ำ 

5. การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 

6. การส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง 

7. การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 

8. การเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อม 

9. การทำงานและการวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี หรือภายในปี 2570  

ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ให้กับเกษตรกรไทย พร้อมกับยกระดับคุณภาพอาหารไทย ด้วยการนำเสนอวัตถุดิบที่มีมาตรฐาน มีเอกลักษณ์ของไทย ดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ด้วยความมุ่งหวังว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย 

นายกฯ หนุนพัฒนาคุณภาพ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” สู่ตลาดโลก

นายกฯ กล่าวถึงการพัฒนาที่ดินในทุ่งกุลาร้องไห้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่กว้าง มีอาณาเขตครอบคลุม 5 จังหวัด มีศักยภาพในการพัฒนาข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย เป็นข้าวหอมมะลิที่พัฒนาอย่างมีคุณภาพ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเกษตรกรพัฒนาการปลูกข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นไปอีกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มผลผลิต และยกระดับรายได้ให้เกษตรกร  รวมถึงการจัดการที่ดินและน้ำ ให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวหอมมะลิ จัดหาแหล่งน้ำที่เพียงพอเพื่อให้เกษตรกรรักษาคุณภาพผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพตลอดปี จัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ในส่วนของการตลาด และการขาย ให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแผนการตลาด ส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิไปในตลาดทั่วโลก รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เกษตรกร เพื่อเป็นการสร้างแหล่งรายได้เสริมให้เกษตรกรในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

 

ดศ. เสนอ ทำสำมะโนการเกษตร ขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  (ดศ.) เสนอร่างกฎกระทรวงสำมะโนฯ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำการเกษตร เพื่อใช้สำหรับการวางแผนกำหนดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และใช้ในการติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การทำสำมะโนการเกษตรถือเป็นการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากสามารถใช้เป็นข้อมูลดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงสถิติการเกษตรที่เพียงพอต่อความต้องการใช้และทันสมัย และยังถือเป็นช่องทางให้เกษตรกรสามารถสะท้อนปัญหา และใช้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการพัฒนาอาชีพในอนาคตอีกด้วย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar