ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทุกอาชีพทั่วประเทศ เริ่ม 1 ตุลาคม 2567

       นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับวิถีชีวิตประชาชนของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการกำหนดแนวทางจนเกิดเป็นผลความสำเร็จ โดยได้ประกาศข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงานไทย เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะเป็นการทยอยปรับขึ้นเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ 

หารือไตรภาคี 14 พ.ค.นี้ เตรียมความพร้อม

     กระทรวงแรงงาน จะนำประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เข้าหารือ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ เพื่อศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ว่ากิจการใดมีความพร้อมหรือยังไม่พร้อม และถ้าหากยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างไรให้พร้อม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 5 - 6 เดือน ในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการประเภท SME ที่เป็นผู้ถือครองจำนวนแรงงานมากที่สุด

เดินเครื่องปรับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ หลังนำร่อง 10 จังหวัด 

      เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว อัตราวันละ 400 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2567 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 (26 มีนาคม 2567) เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเภทกิจการโรงแรม สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัด

  •  กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 
  •  จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 
  •  จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา 
  •  จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 
  •  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลเมืองหัวหิน 
  •  จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก 
  •  จังหวัดภูเก็ต 
  •  จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ 
  •  จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ 
  •  จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย

ปรับเงินเดือนแรกบรรจุกลุ่ม ขรก.พลเรือน - เจ้าหน้าที่ของรัฐ

      นอกจากนี้ ยังปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีผลบังคับใช้เเล้ว เป็นปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 โดยรัฐบาลจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิ ได้เเก่

• ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท

• ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี 

• ปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า นายกฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งทุกคนควรมีเงินเดือน ค่าแรงที่เป็นธรรม ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เศรษฐกิจดี รวมทั้งสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอด คือความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงระบบสวัสดิการ การคุ้มครอง หลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม

ดูแลภาคแรงงานในทุกมิติ

      กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แรงงานทุกคนมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง 

  • การพัฒนาระบบรักษาพยาบาล SSO 515 : 5 โรค 15 วัน โดยการบูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์กับผู้ประกันตน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือทำหัตถการ จำนวน 5 โรค ประกอบด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคนิ่วในไตและถุงน้ำดี การผ่าตัดมะเร็งเต้านม และการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูกและรังไข่ 
  • ตรวจสุขภาพ 14 รายการ ให้ผู้ประกันตนสุขภาพดีถ้วนหน้าได้รับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการทำฟันดี ณ สถานประกอบการ หรือ SSO Mobile e-Dent
  • การจัดงาน “Job Expo Thailand 2024” ให้ผู้สมัครงาน และนายจ้าง สถานประกอบการมาพบกัน เพื่อขยายโอกาสในสายอาชีพให้กับแรงงาน ตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง Soft Power และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 
  • การสะสมหน่วยการเรียนรู้ในระบบธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank เพื่อสร้างโอกาสให้แรงงานได้รับวุฒิการศึกษาในระบบที่สูงขึ้น 
  • ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี Good Labour Practices หรือ GLP ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ส่งเสริมให้พัฒนาต่อยอดเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย คือ Thai Labour Standard หรือ TLS ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้ประกอบการมีการดูแลและปฏิบัติต่อแรงงานตามกฎหมายแรงงาน และสอดคล้องกับหลักสากล

เดินหน้าปฏิบัติตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

กระทรวงแรงงาน ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการให้สัตยาบัน ต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 

  • ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว
  • ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วม 
  • ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (จะเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคม 2567 และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน 2567 ณ นครเจนนีวา) 
  • ฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน 

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar